การไหว้บูชาครูหมอตายายโนรา เพื่อแสดงความกตัญญู

ความเป็นมาของพิธีกรรมดังกล่าว

ความกตัญญูกตเวที เป็นเครื่องหมายของคนดี และสำหรับชาวภาคใต้ส่วนหนึ่งของไทยนั้นก็ได้มีประเพณีหนึ่งที่แสดงออกถึงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่ได้กระทำสืบต่อกันมาช้านานก็คือ “การไหว้บูชาครูหมอตายายโนรา” นั่นเอง

“ครูหมอโนราและตายายโนรา” ในการรับรู้ของชาวบ้านถือเป็นสิ่งที่มีพลังอำนาจ สามารถบันดาลทั้งคุณและโทษแก่ลูกหลาน ทุกช่วงสำคัญในชีวิตจึงต้องทำ “พิธีเซ่นไหว้” เพื่อเป็นการบอกกล่าวและขอบคุณตายายที่ช่วยดูแลลูกหลานให้อยู่เย็นเป็นสุข หากลูกหลานเพิกเฉยไม่เคารพบูชา ไม่เซ่นไหว้ ลบหลู่ หรือทำตัวไม่เหมาะสม เช่น คบชู้ ลักขโมย เชื่อกันว่าจะ “ถูกลงโทษ” ทำให้เจ็บป่วยและไม่สามารถรักษาให้หายได้ด้วยการแพทย์แผนปัจจุบัน ซึ่งต้องแก้ด้วย “การบวงสรวง” ในทางกลับกันก็สามารถใช้พิธีกรรมเดียวกันนี้เพื่อ “บนบาน” ขอให้ท่านช่วยเหลือเรื่องสำคัญได้ (องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย, 2565)

การบูชาครูหมอตายายในสายตระกูลตนนั้นถือเป็นเรื่องใกล้ตัว และสำคัญยิ่งเพราะเราจะทราบที่มาและเรื่องราวของครอบครัวผ่านการนับถือครูหมอ ซึ่งเป็นบรรพบุรุษประจำตระกูล ทั้งยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในครอบครัว บุคคลในตระกูลให้แน่นแฟ้นขึ้นด้วย ซึ่งการไหว้หิ้งครูหมอประจำตระกูลนั้น ปีหนึ่งควรไหว้หนึ่งครั้งเป็นอย่างน้อย และ ไม่ควรที่จะละเลยบรรพบุรุษของตนไปไหว้บรรพบุรุษคนอื่น อย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ถึงแม้ว่าจะนับถือครูหมอเหมือนกัน แต่รายละเอียดนั้นแต่ละครอบครัวย่อมมีความแตกต่างกัน  ดังนั้นเพื่อที่จะให้การสักการะบูชาเห็นผล ลูกหลานที่เป็นชนรุ่นหลังควรที่จะทำพิธีไหว้ครูหมอตายายด้วยตนเอง จะทำให้ทราบว่า ครูหมอตายายที่อยู่กับบรรพบุรุษเรามายังคงอยู่หรือไม่ สามารถช่วยเหลืออะไรได้บ้าง อย่างน้อยๆ เราก็ได้สื่อสารกับบรรพบุรุษด้วยตนเอง บอกกล่าวและขอพรด้วยตัวเอง ก็ย่อมได้รับพรจากบรรพบุรุษอย่างเต็มเปี่ยม  และเป็นการเสริมสร้างธรรมะแห่งกตเวทิตา หรือ การตอบแทนคุณ การระลึกคุณ ให้เกิดขึ้นในใจของเรา เพื่อที่จะดำรงสืบทอดเผ่าพันธุ์ไปสู่อนาคต  (ภูมิ จิระเดชวงศ์, 2562)

การเตรียมการเรื่องต่างๆ เพื่อรอประกอบในพิธีกรรม

การบูชาครูหมอโนรา หรือ ครูหมอตายายนั้นสามารถกระทำกันเองได้ภายในครอบครัว ถ้าหากปีไหนมีฐานะมากพอ ก็จะจัดขันหมากไปเชิญโนรามารำถวาย ซึ่งการบูชาครูหมอโนรา ในแบบฉบับทำได้ได้นั้น มีการเตรียมการดังต่อไปนี้ คือ

1. วันสำหรับบูชาครูหมอตายาย วันและเดือนสำหรับบูชาครูหมอ ตามคตินิยมของชาวใต้ มักจะนิยมวันอังคาร วันพฤหัสบดี หรือ วันเสาร์ ของเดือน 4 เดือน 6 เดือน 9 และ เดือน 11 ตามจันทรคติ  แต่วันที่นิยมกันมาก คือวันพฤหัสบดีแรกของเดือน 6 หรือ วันพฤหัสบดีแรกของเดือน 9 ด้วยเชื่อว่า วันที่จะกำหนดไหว้ครูหมอโนรา หรือแม้แต่ครูหมอในแขนงวิชาอื่นๆ ต้องเป็นวันมงคล เดือนมงคล เพื่อเป็นขวัญกำลังใจสำหรับลูกหลานในสายตระกูล

2. ทำความสะอาดบริเวณหิ้งครูหมอโนรา เมื่อใกล้ถึงวันที่กำหนดไหว้ครูหมอโนราประจำปี ก็จะต้องมีการทำความสะอาดหิ้งครูหมอโนรา โดยเปลี่ยนเอาหมากพลู ดอกไม้ เครื่องบูชาที่เหี่ยวเฉาออก ปัดกวาดทำความสะอาดพื้นห้อง หรือ อาณาบริเวณให้พร้อม เพื่อความสะดวกต่อการประกอบพิธี

3. จัดเตรียมเครื่องบูชา และ เครื่องสังเวยต่างๆ ให้ครบ การเตรียมเครื่องบูชา และเครื่องสังเวยสำหรับครูหมอนั้น ถ้าหากท่านไม่ทราบอาจไปถามราชครูโนรา หรือ ผู้ที่รู้เรื่องโนราในละแวกบ้านท่านก่อน จดให้ครบว่ามีอะไรบ้าง แล้วจัดเตรียมภาชนะ เป็นถ้วย ถาด จาน แก้วน้ำ เครื่องพานต่างๆให้ครบ เครื่องสังเวยทั้งหมดควรเป็นของสดใหม่ อาหารคาวหวาน เพิ่งปรุงสุกใหม่ๆ ไม่ผ่านการรับประทาน (ยกเว้นการชิมรสชาด) ผลไม้ เลือกเอาที่สดใหม่ ส่วนเครื่องคาว พวกหัวหมู ไก่ปากทอง ควรไปซื้อหาจากพ่อค้าแม่ค้าที่รับทำเครื่องคาวสำหรับเซ่นไหว้โดยเฉพาะ เมื่อได้เครื่องสังเวยทั้งหมดครบแล้ว ถ้าหากท่านจัดไหว้ครูหมอเองเป็นครั้งแรก ให้ผู้ที่จัดเครื่องเซ่นไหว้ครูหมอจนชำนาญมาจัดให้ก่อน จากนั้นให้ท่านบันทึกภาพเก็บไว้ เมื่อจะประกอบพิธีกรรมในปีต่อๆ ไป ท่านก็ยึดเอาภาพที่ถ่ายนั้นเป็นต้นแบบในการจัดวาง

(ภูมิ จิระเดชวงศ์, 2563)

ขั้นตอนในการประกอบพิธีกรรม

สำหรับการประกอบพิธี ในการเซ่นไหว้ครูหมอตายายด้วยตนเองนั้น ให้ลูกหลานในครอบครัวมาพร้อมหน้ากัน แล้วให้ผู้ที่ชำนาญในด้านพิธี หรือ ผู้อาวุโสของบ้านเป็นผู้นำในการประกอบพิธี ซึ่งลำดับการเซ่นไหว้ครูหมอโนรานั้น มีดังต่อไปนี้

1. จุดธูปเทียน บูชาพระรัตนตรัย

2. จุดเทียนบนเชี่ยนหมาก ชุมนุมเทวดา

3. ไหว้พระสัสดีใหญ่ – พระสัสดีน้อย

4. จุดเทียนบนเครื่องเซ่นทั้งหมด สวดบทไหว้ครูต้น

5. กล่าวเชิญครูหมอโนราประจำสกุล ให้มารับเครื่องเซ่นไหว้

6. พรมน้ำมะพร้าวอ่อน น้ำหวาน น้ำสะอาด และเหล้าขาว ลงบนเครื่องเซ่นทั้งหมด

7. เมื่อเทียนที่ปักบนเครื่องเซ่นลดลงใกล้ถึงอาหารแล้ว ให้ลาเครื่องสังเวยแล้วดับเทียน

8. ลาพระรัตนตรัย กราบลาครูหมอ แล้วแบ่งเครื่องสังเวยแจกกันในหมู่ลูกหลาน

9. แบ่งเครื่องสังเวยอย่างละเล็กละน้อย ลงบนใบตอง นำไปพลีไว้ริมอาณาเขตของบ้าน เพื่อเป็นทานแก่ผีไม่มีญาติและดวงวิญญาณอื่นๆ ที่อยู่ในแถบนั้น (ภูมิ จิระเดชวงศ์, 2563)

เครื่องไหว้บูชาสังเวยครูหมอตายายโนรา ประกอบไปด้วย

1.ฝ่ายชาย (ประกอบด้วย)

ลำดับที่ เครื่องบูชาครูหมอโนรา (เดือน 11) จำนวน
1 พานครู 1 ที่
2 ข้าว 12 1 ที่
3 ไก่ต้ม  
4 หมรับ 3 หมรับ
5 มะพร้าวอ่อน 2 ลูก
6 เหล้าขาว  
7 กล้วย+อ้อย 1 ชุด
8 ผ้าคู่ชาย  
9 ข้าวต้มใส่น้ำตาล 1 ถ้วย
10 ไข่ไก่ต้มหรือไข่เป็ด 1 ที่
11 ข้าวเหนียวใส่น้ำผึ้ง 1 ถ้วย
12 ดอกไม้/ธูปเทียน  

2.ฝ่ายหญิง (ประกอบด้วย)

ลำดับที่ เครื่องบูชาครูหมอโนรา (เดือน 11) จำนวน
1 พานครู 1 ที่
2 ข้าว 12 1 ที่
3 ข้าวเปล่า 2 ถ้วย
4 แกง 2 ถ้วย
5 หมูต้ม 1 ถ้วย
6 ข้าวเหนียวราดกะทิ (หรือภาษาใต้เรียกว่า เหนียวจานทิ) 2 ถ้วย
7 ข้าวเหนียวคนกับมะพร้าว  
8 ไก่ต้ม  
9 ผ้าคู่  
10 เครื่องเฉี้ยน  
11 แป้งจันมันหอม  
12 ราช  (ประกอบด้วย หมากพลู 3 ชุด, เทียนเล็ก 1 อัน,  ด้ายริ้ว 1 ขดเล็ก,  เงิน 3 บาท และ ข้าวสาร ประมาณหยิบมือ) 3 ราช
13 มะพร้าวอ่อน 1 ลูก
14 ปลาส้มต้มยำ (ปลาทู) 2 ถ้วย
15 ดอกไม้/ธูปเทียน  

(สุวิทย์ คงหอม, ผู้ให้ข้อมูล)

คำกล่าวอัญเชิญครูหมอตายายในสายสกุลมารับเครื่องสังเวย

สำหรับคำกล่าวอัญเชิญครูหมอตายายในสายสกุลมารับเครื่องสังเวยนั้น  จะเอาคำกล่าวที่ง่ายที่สุดมาให้ท่านได้นำไปใช้กัน โดยให้กล่าวดังต่อไปนี้

ข้าพเจ้า / กระผม / ดิฉัน  ชื่อ…………………….สกุล……………………… เป็นลูกหลานของ (ชื่อบรรพบุรุษที่สืบครูหมอ) ขออัญเชิญครูหมอ ( ครูหมอที่เรานับถือในสายสกุล มีกี่องค์ก็ระบุให้ครบ) ขออัญเชิญศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพนับถือ (ระบุชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตัวเราและครอบครัวเราเคารพนับถือ) ขออัญเชิญตายาย (ให้ระบุชื่อบรรพบุรุษของเราเท่าที่รู้จัก) รวมถึงครูหมอตายายทั้ง 4 ฝ่าย 8 สกุล หญิงก็ดี ชายก็ดี ที่รู้จักก็ดี ไม่รู้จักก็ดี วันนี้เป็นวันดี วันศรีวันชัย ขออัญเชิญครูหมอตายาย สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย รวมถึงบรรพบุรุษใน   ข้าพเจ้า / กระผม / ดิฉัน  ชื่อ…………………สกุล………………..  มารับเครื่องบูชาสังเวย มีครบทั้งสำรับคาวหวาน บายศรีขวาซ้าย หมากเชี่ยนเทียนราย ผลไม้ขอน้อมยกถวายให้แก่ครูหมอตายายในสายสกุลของข้าพเจ้าทั้งหมด ขอให้ครูหมอตายาย สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายมารับเครื่องสังเวย ที่ปวงข้าพเจ้าทั้งหลายได้ตั้งถวายด้วยความยินดีด้วยเถิด

หลังจากกล่าวจบแล้ว จึงให้เอาน้ำมะพร้าว น้ำเปล่า น้ำจันท์ (เหล้า) และน้ำหวานเทใส่แก้ว ใช้ใบพลูจุ่มน้ำแต่ละอย่างปะพรมไปบนเครื่องสังเวยให้ทั่ว พร้อมกับกล่าวคาถาสังเวยครูหมอตายายดังนี้

พุทธัสปูชา เภสัชเภลา ครูหมอ (หนัง/โนรา หรืออื่นๆ) ตายาย (หนัง/โนรา หรืออื่นๆ)  ปูชายันติ (บางแห่งใช้ ปูชาสังเหวย)

ธัมมัสปูชา เภสัชเภลา ครูหมอ (หนัง/โนรา หรืออื่นๆ) ตายาย (หนัง/โนรา หรืออื่นๆ) ฝ่ายปู่ฝ่ายย่า ฝ่ายตาฝ่ายยาย ฝ่ายหญิงฝ่ายชาย ฝ่ายเขยฝ่ายใภ้ ปูชายันติ (บางแห่งใช้ ปูชาสังเหวย)

สังฆัสปูชา เภสัชเภลา ศักดิ์สิทธิ์เทวดา อากาศเทวดา ภุมมะเทวดา อารักษ์นครา ปูชายันติ (บางแห่งใช้ ปูชาสังเหวย)     

  (ภูมิ จิระเดชวงศ์, 2562)

ซึ่งชาวภาคใต้ในหลายจังหวัดนั้น ล้วนแล้วแต่มีความศรัทธาเชื่อถือในบรรพบุรุษโนรา ที่ได้สืบทอดมาชั่วลูกชั่วหลาน และมีพิธีกรรมที่แสดงถึงความกตัญญูที่ต้องกระทำกันในทุกๆ ปี ซึ่งผู้ที่มีความกตัญญูกตเวที ย่อมมีความเจริญก้าวหน้าในชีวิต ทั้งนี้ในขณะนี้ “โนรา” ก็ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ขององค์การยูเนสโก ทำให้โนรานั้นได้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก คู่ควรกับการเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันมีคุณค่ายิ่งของชาติไทยสืบไปตราบนานแสนนาน

ข้อมูลอ้างอิง

ภูมิ จิระเดชวงศ์. (2562). โนรา. สืบค้นเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2567. จาก https://www.facebook.com/norhatrang/posts/การตั้งครูหมอประจำปี/1103601113160125/?locale=th_TH

ภูมิ จิระเดชวงศ์. (2563). การบูชาครูหมอตายายโนรา-ฉบับทำได้เอง. สืบค้นเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2567. จาก https://www.facebook.com/norahistory/posts/การบูชาครูหมอตายายโนรา-ฉบับทำได้เอง-โดย-ภูมิ-จิระเดชวงศ์หนึ่งในความกังวลใจของลูก/158463415961394/

สุวิทย์ คงหอม. (2567). เครื่องไหว้บูชาสังเวยครูหมอตายายโนรา. ลูกหลานบรรพบุรุษโนราผู้ให้ข้อมูล

องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย. (2565). 6 ความเชื่อเกี่ยวกับ “โนรา” ศรัทธาที่ไม่มีวันเสื่อมคลาย. สืบค้นเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2567. จาก https://www.altv.tv/content/altv-news/6415cfc229abb5231f8da503

 

Views: 3712

Comments

comments

Leave a Reply

For security, use of Google's reCAPTCHA service is required which is subject to the Google Privacy Policy and Terms of Use.

You are currently viewing การไหว้บูชาครูหมอตายายโนรา เพื่อแสดงความกตัญญู