มัสยิด : ศาสนสถานอิสลามในจังหวัดนครศรีธรรมราช

มัสยิด : ศาสนสถานอิสลามในจังหวัดนครศรีธรรมราช

มัสยิดกลาง
มัสยิดกลางนครศรีธรรมราช

ความหมาย

มัสยิด (Masjid : مسجد) ภาษาอาหรับ หมายถึง สถานที่ละหมาด สถานที่ประกอบศาสนกิจของมุสลิม ในชุมชนสร้างมัสยิดขึ้นเพื่อใช้เป็นสถานที่ละหมาด สถานที่ประกอบพิธีทางศาสนา ศูนย์รวมของมุสลิมในชุมชนและสถานที่พัก สถานที่ละหมาดสำหรับคนเดินทาง

สุเหร่า (Surau : مُصَلَّى) ภาษามลายู เป็นสถานที่ละหมาดและประกอบพิธีทางศาสนา เช่นกัน ภาคใต้ใช้ภาษามลายู ก็จะได้ยินและคุ้นเคยกับคำว่าสุเหร่ามากกว่า

องค์ประกอบหลักของมัสยิด

  • โถงละหมาด
  • มิห์รอบ แสดงทิศของกิบลัต
  • มิมบัร สำหรับให้อิหม่ามหรือคอเต็บขึ้นกล่าวคุตบะฮ์
  • มักซุรัท ฉากสำหรับใช้กั้นพื้นที่หน้าซุ้มมิห์รอบ
  • แท่นสำหรับผู้ขานสัญญาณ ส่งเสียงให้สัญญานต่อจากอิหม่ามเพื่อให้คนที่ยืนไกลในมัสยิดสามารถได้ยิน ปัจจุบันแท่นนี้อาจไม่มีเพราะใช้เครื่องขยายเสียง
  • ลานอเนกประสงค์ หรือโถงอเนกประสงค์ภายในบริเวณมัสยิด
  • ที่อาบน้ำละหมาด
  • หออะซาน การอะซานเป็นการเรียกให้มาสู่การละหมาดเมื่อถึงเวลา
  • ซุ้มประตู บอกถึงการเข้ามาภายในมัสยิด พื้นที่สงบ สำรวม

บทบาทของมัสยิด

  • สถานที่ละหมาด
  • สถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา
  • สถานที่ศึกษา อบรม ให้ความรู้ สอนจริยธรรม สอนศาสนา
  • สถานที่พิจารณาตัดสินปัญหา แก้ไขปัญหา ของมุสลิมในชุมชน
  • สถานที่พบปะ ประชุมของคนในชุมชน
  • เป็นศูนย์กลางแจ้งข่าวสาร ศาลาประชาคม ทั้งในกิจการของศาสนา และกิจการของสังคม ประเทศ
  • สถานที่พักชั่วคราวสำหรับผู้เดินทาง
  • สถานที่พักสำหรับผู้ประสบภัย ในภาวะเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ
  • สถานที่รับบริจาค เก็บรักษาสิ่งของที่ได้รับบริจาค และแจกจ่ายของบริจาค
  • ฯลฯ

มัสยิดที่สำคัญ

มัสยิดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานเงินราชทรัพย์ส่วนพระองค์สมทบทุนในการจัดซื้อที่ดินของมัสยิด

1.มัสยิดกลางนครศรีธรรมราช

ที่ตั้ง: อาคารมัสยิดกลางจังหวัดนครศรีธรรมราช หมู่ที่ 3 ตำบลนาทราย อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช

 

ลักษณะสถาปัตยกรรม: ศิลปะอิสลามร่วมสมัย อาคารมัสยิดมีผังรูปสี่เหลี่ยม มีโดมใหญ่อยู่ตรงกลาง ยอดโดมประดับสัญลักษณ์ดาวและพระจันทร์เสี้ยว มุมทั้ง 4 มีหออะซาน ซุ้มประตูและหน้าต่างมัสยิดประดับกระจกสีลายเรขาคณิต

 

ประวัติความเป็นมา:

 

  •  ปี 2545 ที่ประชุมคณะกรรมการกลางอิสลามประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช มีมติเห็นชอบที่จะให้มีมัสยิดกลางประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช
  • 24 กย.2557 รัฐบาลได้รับโครงการสร้างมัสยิดกลางจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัดนครศรีธรรมราช
  • ตค.2557 ทำสัญญาว่าจ้าง บริษัทนัศร็อนมุสลิมกรุ๊ป เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง
  • 4 พย.2557 นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี เดินทางมาเป็นประธานในพิธีเทฐานรากมัสยิดกลางประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช 
  • กพ.2560 ก่อสร้างแล้วเสร็จ
  • 18 พย.2560 เปิดใช้อย่างเป็นทางการ โดยมีนายอาศิศ พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี เดินทางมาเป็นประธานในพิธี
  • พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานเงินสมทบทุนจัดซื้อที่ดิน อันยังประโยชน์ในการประกอบศาสนกิจของพสกนิกรผู้นับถือศาสนาอิสลาม และศาสนิกชนทั่วไป ด้วยทรงมุ่งมั่นที่จะทรงอุปถัมภ์ทะนุบำรุงกิจการของศาสนาอิสลามในประเทศไทย ในฐานะที่ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก

  •  15 มกราคม 2564 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นประธานในพิธีมอบเงินพระราชทาน จำนวน 4,500,000 บาท (สี่ล้านห้าแสนบาท) เบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ แก่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อสมทบทุนในการจัดซื้อที่ดินของมัสยิดกลางจังหวัดนครศรีธรรมราชเพิ่มเติม เป็นเนื้อที่จำนวน 7 ไร่ 53.5 ตารางวา โดยมีประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นผู้รับมอบ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้แก่ชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช

บทบาทของมัสยิดกลางนครศรีธรรมราช:

    • เป็นศูนย์กลางบริหารกิจการศาสนาอิสลาม 

    • เป็นสถานที่ปฏิบัติศาสนกิจของชาวมุสลิมจังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งชาวต่างประเทศ 

    • เป็นสถานที่ฝึกอบรม พัฒนาบุคลากรทางการศึกษาภาคฟัรดูอีน ในการเรียนการสอนของเยาวชนในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช 

    • เป็นสถานที่จัดงานเมาลิดกลางของจังหวัด 

    • เป็นศูนย์กลางในการกล่อมเกลาเยาวชน ประชาชนชาวไทยมุสลิมในพื้นที่และใกล้เคียงในการลด ละ เลิก ยาเสพติด ผ่านกระบวนการความเชื่อทางศาสนา

    • รองรับการท่องเที่ยวอันเนื่องมาจากการเปิดประชาคม เศรษฐกิจอาเซียน

    • ฯลฯ

 

มัสยิดซอลาฮุดดีน นครศรีธรรมราช

2.มัสยิดซอลาฮุดดีน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชทานเงินราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ซื้อที่ดินสำหรับสร้างมัสยิด

ที่ตั้ง: ถนนกะโรม ต.คลัง อำเภอมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช

ลักษณะสถาปัตยกรรม: ศิลปกรรมของอิสลาม มีโดมใหญ่ยอดโดมประดับสัญลักษณ์ดาวและพระจันทร์เสี้ยว มีหออะซาน ซุ้มประตูเป็นรูปโดม ล่างโดมใหญ่ตรงกลาง คือคําปฏิญาณตน

أشهد ألا إله إلّا الله “อัชฮะดุ อัลลา อิลาฮะ อิลลัลลอฮฺ” มีความหมายว่า “ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ”

وأشهد أن محمداً رسول الله ”วะอัชฮะดุ อันนะ มุหัมมะดัร รอซูลลุลลอฮฺ” มีความหมายว่า “นบีมุหัมมัด (ซ.ล.) เป็นร่อซูลของพระองค์”

 

ซุ้มประตูทิศเหนือ มัสยิดซอลาฮุดดีน นครศรีธรรมราช

ประวัติความเป็นมา:

    • ประมาณปี พ.ศ. 2440 สร้างมัสยิด เป็นอาคารไม้ ติดกับที่ดินของวัดมเหยงค์ เรียก “สุเหร่านอก” เนื่องจากตอนนั้นบริเวณถนนราชดำเนิน มีสุเหร่า 2 แห่งด้วยกัน ซึ่งก็คือ สุเหร่านอก (มัสยิดซอลาฮุดดีน อยู่ด้านนอกของถนนราชดำเนิน ) และ สุเหร่าใน (มัสยิดญาเมี๊ยะ อยู่ถนนราชดำเนิน)

    • พ.ศ. 2470 ทางราชการต้องการพื้นที่สร้างโรงเรียนบริเวณมัสยิด จึงได้ขอให้ย้าย “สุเหร่านอก” ออกจากพื้นที่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ ทรงรับสั่งให้เลือกที่ดินสำหรับสร้างมัสยิด ในที่ดินวัดร้าง คือ วัดท่าช้าง วัดชายตัง วัดพระเงิน (เจดีย์ยักษ์) อิหม่ามและคณะกรรมการมีมติเลือกที่ดินวัดร้าง “วัดท่าช้าง” เป็นที่ตั้งมัสยิด และได้รื้อถอน “สุเหร่านอก” ออกจากที่ดินเดิม สร้างอาคารชั่วคราวในที่ดินวัดท่าช้าง และเรียกชื่อใหม่ว่า “สุเหร่าท่าช้าง”

    • พ.ศ. 2473 เริ่มดำเนินการก่อสร้างอาคารมัสยิดเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก สร้างตามเงินรายได้ที่ได้มา

    • พ.ศ. 2490 เปลี่ยนชื่อจาก “สุเหร่าท่าช้าง” เป็น “มัสยิดซอลาฮุดดีน” คณะกรรมการ มัสยิดซอลาฮุดดีน ได้ยื่นขอขึ้นทะเบียนมัสยิด เจ้าหน้าที่ธรณีสงฆ์ได้คัดค้าน “จะจดทะเบียนให้มัสยิดซอลาฮุดดีนไม่ได้ เพราะไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง เท่าที่ตั้งอยู่นี้ ตามหลักฐานเป็นเพียงผู้อาศัยอยู่ในที่ดินวัดท่าช้างเท่านั้น”

    • พ.ศ.2498 ทางคณะกรรมการมัสยิดถวายฎีกา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานที่ดินวัดท่าช้างร้าง เป็นสถานที่ก่อสร้างมัสยิดซอลาฮุดดีน “มีพระราชดำรัสให้ที่ดินผืนดังกล่าวเป็นของมัสยิด โดยได้จัดทำเป็นที่ดินผาติกรรม (ที่ดินผาติกรรม คือการจำหน่ายครุภัณฑ์เพื่อประโยชน์สงฆ์ อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยเอาของแลกเปลี่ยนเอาของดีกว่าให้แก่สงฆ์ ข้อมูลจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ)”

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานเงินราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 42,935 บาท เป็นค่าผาติกรรม ผ่านทางกระทรวงมหาดไทยโดยผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชในขณะนั้น และได้ดำเนินการจนแล้วเสร็จ

    • พ.ศ.2500 มัสยิดได้รับการจดทะเบียนจัดตั้งมัสยิด โดยได้จดทะเบียนในชื่อ “มัสยิดซอลาฮุดดีน” หมายเลขทะเบียนที่ 37 ลงวันที่ 23 เมษายน 2500 ทางราชการออกโฉนดที่ดินให้ โดยมีพื้นที่ทั้งหมด 400 ตารางวา หรือ 1 ไร่ เป็นด้านกว้าง 20 ตารางวา ด้านยาว 20 ตารางวา

    • 15 มีนาคม 2502 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยรถยนต์พระที่นั่ง ได้เสด็จไปน้ำตกพรหมโลก รถขบวนพระที่นั่งเสด็จผ่านหน้ามัสยิดซอลาฮุดดีน มีซุ้มประตูที่ชาวมุสลิมสร้างเพื่อรับเสด็จ

ทรงหยุดรถยนต์พระที่นั่ง ทรงพระราชดำเนินเยี่ยมมัสยิดซอลาฮุดดีน โดยไม่มีกำหนดการ เสด็จเข้าทางประตูด้านหน้า (ทิศเหนือ) ถนนกะโรม ผ่านซุ้มประตูมัสยิด บันไดหน้ามัสยิด และทรงประทับบนมิมบัร

    • พ.ศ. 2509 เปิดโรงเรียนสอนฟัรดูอีน (สอนศาสนาอิสลามขั้นพื้นฐาน) 

    • พ.ศ. 2514 มัสยิดสร้างเสร็จ เปิดใช้อย่างเป็นทางการ 

 

มิมบัร มัสยิดซอลาฮุดดีน นครศรีธรรมราช

มัสยิด

 

มิมบัร มัสยิดซอลาฮุดดีน นครศรีธรรมราช

บทบาทต่อชุมชน:

    • สถานที่ละหมาด

    • สถานที่ปฏิบัติศาสกิจ

    • สถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา

    • สถานศึกษา โรงเรียนสอนฟัรดูอีนสำหรับชาวมุสลิมในชุมชนท่าช้างและชุมชนใกล้เคียง

    • สถานที่สำหรับคนเดินทาง

    • ฯลฯ

“พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานเงินพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เป็นค่าผาติกรรมที่ดินสร้างมัสยิดซอลาฮุดดีน มิมบัรยังคงอยู่ที่เดิม เรื่องราวติดตรึงในหัวใจชาวมุสลิมนครศรีธรรมราชไม่เคยเลือนหาย มุสลิมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณทรงเป็นองค์ศาสนูปถัมภกของทุกศาสนา นี่คือความผูกพันของมุสลิมในจังหวัดนครศรีธรรมราชกับ พระบาทสมเด็จพระปรมิทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร์ สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร

 

มัสยิดญาเมี๊ยะ นครศรีธรรมราช

3.  มัสยิดญาเมี๊ยะ

คำว่า “ญาเมี๊ยะ” جامعة เป็นภาษาอาหรับ หมายถึง “ที่ชุมชน”

ที่ตั้ง: ถนนราชดำเนิน ตรงกันข้ามกับ วัดมเหยงคณ์ ใกล้สี่แยกตลาดแขก

ประวัติความเป็นมา:

มัสยิดญาเมี๊ยะ สร้างก่อนปี พ.ศ. 2435 ต่อมาเกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ ตั้งแต่ถนนเพนียดไปถึงข้างวิทยาลัยอาชีวศึกษานครศรีธรรมราช บริเวณไฟไหม้ที่มีเขตกว้างมาก บ้านเรือนราษฎร วัดมเหยงคณ์ ถูกไฟไหม้เหลือแต่มัสยิดญาเมี๊ยะ กับบ้าน 1 หลัง มัสยิดญาเมี๊ยะ ที่เหลือจากไฟไหม้เป็นอาคารไม้ พื้นและฝาเป็นกระดาน หลังคามุงสังกะสี มีระเบียงและบันไดด้านทิศเหนือและด้านทิศใต้ของอาคาร มีประตูเข้า-ออกด้านตะวันออก 

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม: อาคารปัจจุบันสร้างตามสถาปัตยกรรมแบบเปอร์เซีย แบบแปลนเอามาจากแคว้นแคชเมียร์ในประเทศอินเดีย 

บทบาทต่อชุมชน:

    • สถานที่ละหมาด

    • สถานที่ปฏิบัติศาสกิจ

    • สถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา

    • สถานศึกษา โรงเรียนสอนฟัรดูอีนสำหรับชาวมุสลิมในชุมชนตลาดแขกและชุมชนใกล้เคียง

    • สถานที่สำหรับคนเดินทาง

    • ฯลฯ

มัสยิดและสุเหร่า คำทั้งสองมีความหมายเหมือนกัน ใช้งานเหมือนกัน เป็นสถานที่ละหมาดและประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเหมือนกัน ต่างกันที่

    • รากศัพท์ สุเหร่า มีรากศัพท์จากภาษามลายู มัสยิด มีรากศัพท์จากภาษาอาหรับ 

    • “มัสยิด: Masjid مسجد” คำที่ทุกคนทั่วโลกรู้จัก และสามารถใช้สื่อสารได้ทั่วโลก ส่วนคำว่า สุเหร่า: Surau مُصَلَّى” เป็นคำที่มุสลิมภาคใต้ของไทย และประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียนใช้กันนั่นเอง

อิสลามไม่มีเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์เป็นสิ่งแทนศาสนา มัสยิดคือสถานที่ละหมาดและประกอบศาสนพิธี

ทั้งมัสยิดและสุเหร่ามีการละหมาดวันศุกร์,  ละหมาด 5 เวลา, ละหมาดสุนัต ใช้สถานที่สอนศาสนา และประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเหมือนกัน มีบทบาทต่อสังคมเหมือนกัน ปัจจุบันคนส่วนใหญ่เข้าใจว่าสุเหร่ามีขนาดเล็ก ความงาม ความโออ่า จะไม่เท่ามัสยิด นั่นเพราะว่าสุเหร่ามักสร้างในชุมชน โดยมุสลิมในชุมชน สร้างตามกำลังทรัพย์เพื่อรองรับมุสลิมในชุมชนเท่านั้น อย่างไรก็ตามทั้งมัสยิดและสุเหร่าก็เป็นสถานที่ปฏิบัติศาสนกิจของชาวมุสลิมทั่วโลก มีบทบาทต่อโลกมุสลิมเหมือนกันทุกประการ “บ้าน โรงเรียน มัสยิด” บทบาทที่แตกต่าง แต่คาบเกี่ยวกัน บางทีเราจะเห็นทั้งมัสยิดและโรงเรียนคือสถานที่เดียวกัน โรงเรียนในมัสยิด เรียนหนังสือที่มัสยิด และสำหรับคนเดินทาง บ้านและมัสยิดคือสถานที่เดียวกัน คือเป็นสถานที่พักแรมและเป็นสถานที่ปฏิบัติศาสนกิจ “มัสยิด มีบทบาทในทุกเวลาของชีวิตมุสลิม”

“มัสยิด มีบทบาทในทุกเวลาของชีวิตมุสลิม”

 

มัสยิดญาเมี๊ยะ นครศรีธรรมราช

ข้อมูลอ้างอิง:

 

บันไดทางขึ้นทิศเหนือ มัสยิดซอลาฮุดดีน นครศรีธรรมราช

Visits: 1177

Comments

comments

Leave a Reply

For security, use of Google's reCAPTCHA service is required which is subject to the Google Privacy Policy and Terms of Use.